วิสัยทัศน์ 

เป็นองค์กรแห่งผู้นำ ความรู้คู่คุณธรรม นำการเปลี่ยนแปลง

  

พันธกิจ 

เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของศิษย์เก่าในการสนับสนุนสถาบันทุกมิติ 

เพื่อให้ดำรงฐานะเป็นสถาบันชั้นนำแห่งชาติ 

ที่สร้างผู้นำและองค์ความรู้คู่คุณธรรม เพื่อการเปลี่ยนแปลงและรับใช้สังคม

  

รายชื่อนายกสมาคมนักศึกษาเก่าสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

 1. พลโท ชาญ         อังศุโชติ              พ.ศ. 2524-2526  

 2. พลเอก สันต์        จิตปฏิมา              พ.ศ. 2526-2528

 3. ดร.วีรวัฒน์           กาญจนดุล           พ.ศ. 2528-2530  

 4. ดร.ธวัช               วิชัยดิษฐ์             พ.ศ. 2530-2534

 5. นายศิวะ              แสงมณี               พ.ศ. 2545-2547

 6. พลเอก ไพศาล     กตัญญู               พ.ศ. 2547-2550 และปีพ.ศ. 2550-2552

 7. นายอดิศักดิ์         โรหิตศุน              พ.ศ. 2552-2554

 8. นายธนากร          เกษตรสุวรรณ       พ.ศ. 2554-2556

 9. นายสุมิตร            เพชราภิรัชต์         พ.ศ. 2556-2558 และปีพ.ศ. 2558-2560**

10. พลเอก ธีระเดช    ฉัตรเสถียรพงศ์      พ.ศ. 2560-2560 และปีพ.ศ. 2562-2564**

11. นายดุสิต            ปิยะทัต                พ.ศ. 2564-ปัจจุบัน  

 

** พระราชทานพระมหากรุณาให้อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

 

ข้อบังคับ

สมาคมนักศึกษาเก่าสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ในพระบรมราชูปถัมภ์

(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2565

__________________

หมวด 1

ข้อความทั่วไป

 

ข้อ 1. สมาคมนี้ชื่อว่า “สมาคมนักศึกษาเก่าสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” ใช้อักษรชื่อย่อภาษาไทยว่า “สน.สพบ.” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ “The National Institute of Development Administration Alumni Association Under the Royal Patronage” และใช้อักษรย่อภาษาอังกฤษว่า “NIDA ALAS  Under the Royal Patronage  ”

 

 

ข้อ 2. สมาคมมีเครื่องหมาย เป็นรูปธรรมจักรอยู่ภายในวงกลม ล้อมรอบด้วยกลีบบัวขาว ที่วงกลมบรรจุข้อความว่า “สมาคมนักศึกษาเก่าสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” กงที่แยกออกจากแกน 8 กง ทำเป็นรูปคบเพลิงที่มีเปลวเป็นสีขาวดังรูปนี้ เครื่องหมายนี้มีความหมายว่า “การใช้ความรู้ไปในทางที่ดี โดยถือมรรค 8 เป็นหลัก จะส่งผลให้เกิดความรุ่งเรืองแก่ประเทศชาติหรือมวลมนุษย์” ซึ่งนักศึกษาเก่าจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เป็นผู้ที่ยึดมั่นในคำขวัญของสถาบัน

 

                                   

 

ข้อ 3. สมาคมมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  เลขที่ 148 ถนนเสรีไทย แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ  กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ 10240

 

ข้อ 4. ให้ยกเลิกข้อความในข้อบังคับสมาคมนักศึกษาเก่า สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2563 ที่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้ และใช้ข้อความที่แก้ไขแทน

 

หมวด 2

บทนิยาม

ข้อ 5. ในข้อบังคับนี้

             5.1  “สถาบัน” หมายความว่า สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

             5.2  “สมาคม” หมายความว่า สมาคมนักศึกษาเก่าสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในพระ-บรมราชูปถัมภ์

             5.3  “นายก” หมายความว่า นายกสมาคมนักศึกษาเก่าสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์     ในพระบรมราชูปถัมภ์

             5.4  “คณะกรรมการบริหาร” หมายความว่า คณะบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการกิจการของสมาคม และเป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายในและภายนอก โดยมีรายชื่อตามที่ได้ขอรับการจดทะเบียนจากนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร

“กรรมการกลาง” หมายความว่า ผู้แทนคณะกรรมการบริหารชุดที่แล้วหรือจากศิษย์เก่า ซึ่งได้รับเลือกตั้งให้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหาร

“ปีการเงิน” หมายความว่า ปีการเงินของสมาคม ซึ่งเริ่มต้นจากวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีนั้นๆ

“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกสามัญ , สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ ตามข้อ 7, และได้ชำระค่าบำรุงตามข้อ 9 เรียบร้อยแล้ว

 

หมวด 3

วัตถุประสงค์

ข้อ 6. สมาคมมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

6.1 เป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือกับนักศึกษาเก่าของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมในการพัฒนาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

6.2  ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อการช่วยเหลือสังคม และการพัฒนาประเทศ  

6.3  พัฒนาสมาคมให้มีศักยภาพที่ทันสมัยและก้าวหน้า โดยพัฒนาเครือข่ายสมาชิก นักศึกษาเก่า นักศึกษาปัจจุบัน บุคลากรและคณาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ให้เข้มแข็ง และเกิดความสามัคคี

6.4 พัฒนาองค์ความรู้ใหม่ให้กับนักศึกษาเก่า นักศึกษาปัจจุบัน และบุคคลทั่วไป ในรูปของการจัดการฝึกอบรม การสัมมนา และการเสวนา โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากในประเทศและต่างประเทศ

6.5 สนับสนุนกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์และสาธารณกุศลต่างๆ

6.6 ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแต่ประการใด                   

  

หมวด 4

สมาชิก

ข้อ 7. สมาคมมีสมาชิก 3 ประเภท คือ

7.1 สมาชิกสามัญ ได้แก่

                    7.1.1 นักศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษา

                    7.1.2 นักศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่ไม่สำเร็จการศึกษาตามระยะเวลา   ที่สถาบันกำหนด

                    7.1.3 นักศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่กำลังศึกษาอยู่ปัจจุบันและอยู่ในระยะเวลาการศึกษาที่สถาบันกำหนด

                    7.1.4 คณาจารย์ของสถาบัน ฯ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

                    7.1.5 ผู้สำเร็จการฝึกอบรมหลักสูตรของสถาบันหรือของคณะต่างๆ หรือหลักสูตรการฝึกอบรมที่สมาคมจัดขึ้น ซึ่งมีระยะการฝึกอบรมตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป และได้สมัครเป็นสมาชิกซึ่งคณะกรรมการบริหารมีมติรับเป็นสมาชิก

7.2 สมาชิกวิสามัญ  ได้แก่

      7.2.1 ผู้ที่เคยผ่านการอบรมจากคณะต่างๆ ในสถาบันและสมัครเป็นสมาชิก

      7.2.2 ผู้ที่ศึกษาจากคณะรัฐประศาสนศาสตร์เดิมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสมัครเป็นสมาชิก

7.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิหรือมีประสบการณ์ในการบริหารจากส่วนราชการหรือธุรกิจ หรือผู้มีอุปการะหรือให้ความสนับสนุนกิจการของสมาคมที่ได้รับเชิญจากคณะกรรมการบริหารด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

7.4 สมาชิกวิสามัญตามข้อ 7.2 สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นสมาชิกสามัญได้จะต้องเป็นผู้สร้างคุณประโยชน์กับสมาคม สถาบัน สังคมและประเทศชาติ โดยจะต้องได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหาร

             

ข้อ 8. การสมัครเข้าเป็นสมาชิก

8.1 ให้ผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมต้องยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกตามแบบฟอร์มมาตรฐาน หรือแบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ของสมาคม โดยยื่นต่อสมาคม และให้นายทะเบียนตรวจสอบและลงนามรับรอง แล้วเสนอใบสมัครพร้อมทั้งความเห็นต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณามีมติให้ความเห็นชอบ

8.2 สมาชิกภาพของผู้สมัครเป็นสมาชิกของสมาคม ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริหารมีมติเห็นชอบ

                            

ข้อ 9. ค่าบำรุง

9.1 สมาชิกสามัญต้องชำระค่าบำรุงตลอดชีพ 100 บาท

9.2 สมาชิกวิสามัญต้องชำระค่าบำรุงตลอดชีพ 100 บาท

9.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องชำระค่าบำรุงตลอดชีพ

 

ข้อ 10. สิทธิของสมาชิก

10.1 สมาชิกทุกประเภทมีสิทธิร่วมกิจกรรมเสนอความคิดเห็นในการดำเนินงานของสมาคม  แต่การออกเสียงเกี่ยวกับการบริหารงานและการเลือกตั้งกรรมการบริหารของสมาคม ให้เป็นสิทธิของสมาชิกสามัญเท่านั้น

10.2 สมาชิกทุกประเภทมีสิทธิใช้ประโยชน์ในสถานที่และบริการของสมาคม

10.3 สมาชิกทุกประเภทมีสิทธิประดับเข็มเครื่องหมายของสมาคม

10.4 สมาชิกทุกประเภทมีสิทธิได้รับทุนการศึกษาหรือทุนวิจัยตามระเบียบของสมาคม

10.5 สมาชิกทุกประเภทมีสิทธิซักถามเกี่ยวกับการบริหารงาน ตลอดจนฐานะการเงินของสมาคม 

10.6 สมาชิกสามัญตามข้อ 7.1.1 เท่านั้น มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมและกรรมการสมาคม

 

ข้อ 11. หน้าที่ของสมาชิก

11.1 ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคม

11.2 แจ้งให้สมาคมนักศึกษาเก่า ฯ ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อมีการย้ายที่อยู่หรือที่ทำงาน รวมทั้งเปลี่ยนชื่อและนามสกุลด้วย โดยหากสมาชิกไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงให้สมาคมทราบ ให้ถือว่าชื่อและที่อยู่ที่สมาชิกได้ให้ไว้เป็นที่อยู่ปัจจุบัน หากสมาคมมีการแจ้งการใดๆ หน้าเว็บไซต์ของสมาคม ทางสื่อสังคมออนไลน์ จดหมาย จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ประกาศทางสิ่งพิมพ์ หรือวิธีอื่นใดตามที่สมาคมฯ เห็นสมควรของสมาคมฯ ไปยังสมาชิก เพื่อให้สมาชิกทราบ ให้ถือว่าสมาชิกได้รับทราบการแจ้งดังกล่าว โดยชอบแล้วทันที

11.3 ช่วยเหลือและเข้าร่วมในกิจกรรมของสมาคม

11.4 ส่งเสริมความสามัคคีระหว่างสมาชิกรวมทั้งปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบของสมาคม

 

ข้อ 12.  สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อ

ตาย

ลาออก

ประพฤติตนเป็นที่เสื่อมเสียชื่อเสียงของสมาคม และที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมีมติให้จำหน่ายชื่อสมาชิกผู้นั้นออกจากทะเบียนสมาชิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนคณะกรรมการบริหาร

 

หมวด 5

การบริหารงานของสมาคม

 

ข้อ 13. สมาคมมีกรรมการบริหารคณะหนึ่ง จำนวนไม่น้อยกว่า 15 คน และไม่เกิน 30 คน ประกอบด้วย นายก อุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียน ประชาสัมพันธ์ หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น และกรรมการกลาง

13.1 กรรมการบริหารอยู่ในตำแหน่งวาระละ 2 ปี นับจากวันที่ได้รับการจดทะเบียนจากนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร โดยห้ามนายกสมาคมดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระ

                     13.1.1 ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการบริหารว่างลงให้นายกแต่งตั้งสมาชิกสามัญเป็นกรรมการบริหารแทนได้

       13.1.2  การดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารตามข้อ 13.1.1 วรรคสองให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของกรรมการบริหารที่ตนแทน

13.2 คณะกรรมการบริหารมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้

       13.2.1  บริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคม

       13.2.2  กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์และออกระเบียบในการดำเนินงานของสมาคม

                     13.2.3  แต่งตั้งอนุกรรมการหรือคณะทำงาน หรือพนักงาน หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่น เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินงานของสมาคมได้ตามความจำเป็น

       13.2.4   จัดให้มีรายงานประจำปีและงบดุลแสดงฐานะทางการเงินของสมาคมเสนอต่อที่ประชุมใหญ่

13.3  ให้นายกแต่งตั้งกรรมการบริหารเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามความในข้อ 13 วรรคแรก เว้นแต่ตำแหน่งกรรมการกลาง ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่ง

13.4  คณะกรรมการบริหารต้องประชุมกันอย่างน้อยปีละ 6 ครั้ง โดยมีกรรมการเข้าประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการบริหารจึงจะถือเป็นองค์ประชุม   การพิจารณาปัญหาใดๆ หรือการลงความเห็นให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานเป็นผู้ออกเสียงชี้ขาด ซึ่งอาจกำหนดประชุมทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ หรือประชุมโดยวิธีปกติร่วมกับประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างใดอย่างหนึ่ง   

13.5  กรรมการบริหารพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

       13.5.1  ครบกำหนดตามวาระ

       13.5.2  ขาดสมาชิกภาพตามข้อ 12

       13.5.3  ลาออก

       13.5.4  ขาดการประชุมติดต่อกัน 3 ครั้ง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

 

ข้อ 14.  ให้นายกเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงานของสมาคม  และเป็นผู้แทนของสมาคมในการทำนิติกรรมติดต่อกับหน่วยงานภายนอกตามมติของคณะกรรมการบริหาร หรือการประชุมใหญ่ของสมาคม ในการดำเนินการติดต่อกับบุคคลภายนอก นายกอาจมอบอำนาจเช่นว่านี้ให้แก่กรรมการบริหารได้โดยทำเป็นหนังสือ

 

ข้อ 15. ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารปฏิบัติหน้าที่จะครบกำหนดออกตามวาระแล้ว แต่ยังไม่มี       การเรียกประชุมใหญ่สามัญ หรือการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ ให้คณะกรรมการบริหารชุดเดิมปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน

 

ข้อ 16.  ให้คณะกรรมการบริหารชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ เมื่อคณะกรรมการบริหารชุดก่อนส่งมอบทรัพย์สิน บัญชี เอกสาร และเงินสดของสมาคม ที่ผู้ตรวจสอบบัญชีได้ตรวจสอบและรับรองว่าถูกต้องแล้ว ทั้งนี้ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่นายกสมาคมได้รับเลือกตั้ง

 

ข้อ 17.  ให้นายกแจ้งรายชื่อคณะกรรมการบริหารนโยบาย และแผนงานให้สมาชิกทราบภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้ตั้งคณะกรรมการบริหาร

 

หมวด 6

การเงินและการบัญชี

 

ข้อ 18.  รายได้ของสมาคมได้มาจาก

18.1  ค่าบำรุงของสมาชิก

18.2  เงินบริจาค

18.3  ดอกผลที่เกิดจากทรัพย์สินของสมาคม

18.4  รายได้อื่น ๆ

 

ข้อ 19.  รายได้ของสมาคม ทุกประเภทให้ฝากไว้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นตามที่คณะกรรมการบริหารเห็นสมควรในนามของสมาคม

19.1  นายกมีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินในนามของสมาคม ได้ไม่เกินครั้งละ 50,000 บาท  หากจ่ายเงินเกินจำนวนนี้ต้องขออนุมัติต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร

19.2  ให้เหรัญญิกเก็บรักษาเงินสดสำรองจ่ายได้ไม่เกิน 20,000 บาท

19.3  ให้เหรัญญิกจัดทำงบฐานะทางการเงินเสนอต่อนายกทุกรอบ 2 เดือน และต้องรายงาน

ให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารทราบทุกรอบ 4 เดือน

19.4 หลักฐานและใบสำคัญทางการเงินทุกฉบับ เหรัญญิกต้องเก็บรักษาไว้ไม่น้อยกว่า  10 ปี เพื่อการตรวจสอบ

19.5  การสั่งจ่ายเงินของสมาคมต้องมีลายมือชื่อของกรรมการบริหารต่อไปนี้ คือ นา

หรือ อุปนายก หรือ เลขาธิการ หรือ เหรัญญิก ลงนามร่วมกันอย่างน้อย 2 คน

 

ข้อ 20. ให้ที่ประชุมสามัญประจำปีแต่งตั้งผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีของสมาคม

ทุกปี ผู้สอบบัญชีจะต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหาร

 

หมวด 7

การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร

 

ข้อ 21. เมื่อคณะกรรมการบริหารดำรงตำแหน่งจะครบวาระ 2 ปี ให้ดำเนินการเลือกตั้งนายกสมาคมในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคม โดยให้สมาชิกเสนอชื่อผู้สมควรเป็นนายกสมาคมจากสมาชิกสามัญ ข้อ 7.1.1 ของสมาคมที่อยู่ในที่ประชุมใหญ่  เพื่อให้ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมเลือก 

21.1 คณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบันแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการจัดการเลือกตั้งนายกสมาคม          

              21.2 คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง ตามข้อ 21.1 เป็นผู้กำหนดวิธีการเลือกตั้งได้ ตามความเหมาะสม โดยไม่ขัดต่อข้อบังคับของสมาคมฉบับนี้

              21.3 ขั้นตอนการเลือกตั้งนายกสมาคม

                      21.3.1 การเสนอชื่อผู้ลงรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม

                                  21.3.1 (1)  ให้สมาชิกในที่ประชุมเสนอชื่อผู้ลงรับเลือกตั้งนายกสมาคม ซึ่งจะต้องมีสมาชิกสามัญในที่ประชุมรับรองการเสนอชื่อผู้ลงรับเลือกตั้งนายกสมาคม อย่างน้อย 1 ราย

                                 21.3.1 (2)  สมาชิกที่ได้รับการเสนอชื่อจะต้องเป็นสมาชิกสามัญตามข้อ 7.1.1 ต้องอยู่ในที่ประชุม มีคุณสมบัติครบตามข้อบังคับสมาคม และไม่ขัดต่อข้อบังคับของสมาคม ข้อ 13.1

                     21.3.2 กรณีมีผู้สมัครลงรับเลือกตั้งนายกสมาคมมีเพียง 1 ราย ให้ประธานในที่ประชุม ขอมติในที่ประชุมใหญ่รับรองผล โดยถือคะแนน 2 ใน 3 ของสมาชิกที่ลงทะเบียนก่อนเวลาประกาศผลรับรอง และถือเป็นการสิ้นสุดการลงมติรับรองผล

                                 21.3.2 (1) หากมีมติลงคะแนนไม่ถึง 2 ใน 3 ตามข้อ 21.3.2 ให้คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศในที่ประชุม เพื่อให้เสนอชื่อผู้ลงรับเลือกตั้งใหม่ แล้วดำเนินการเลือกตั้งตาม ข้อ 21.3.1

                                 21.3.2 (2) ประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง เสนอชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม จากสมาชิกสามัญ ตามข้อ 7.1.1 ในที่ประชุม อีก 1 ราย โดยมีคณะกรรมการเลือกตั้ง รับรอง 1 ราย และดำเนินการเลือกตั้งตามข้อ  21.3.3 

       21.3.3 กรณีมีผู้สมัครลงรับเลือกตั้งนายกสมาคมเกินกว่า 1 ราย ให้คณะกรรมการ ที่สมาคมแต่งตั้ง ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง โดยให้ประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง ชี้แจงขั้นตอนการเลือกตั้ง และวิธีการเลือกตั้งให้สมาชิกทราบ จึงดำเนินการเลือกตั้ง เมื่อทราบผลการเลือกตั้งนายกสมาคม  ให้ประธานคณะกรรมการประกาศให้สมาชิกในที่ประชุมทราบ เพื่อรับรองผลการเลือกตั้งในครั้งนี้

       21.3.4 เมื่อคณะกรรมการประกาศเพื่อรับรองผลการเลือกตั้ง สมาชิกสามัญผู้อยู่ใน     ที่ประชุมจะคัดค้านผลการเลือกตั้งภายใน 7 วัน นับแต่วันรับรองผลการเลือกตั้ง

   

ข้อ 22. ให้ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมตามข้อ 21 พิจารณาแต่งตั้งกรรมการบริหารสมาคมจาก นายกสมาคมของคณะ, สมาคมนักศึกษาเก่า/ศิษย์เก่าของคณะ หรือประธานชมรมนักศึกษาเก่า/ศิษย์เก่าของคณะ/วิทยาลัย ที่ยังไม่ได้จดทะเบียน ในสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ ตลอดจนนายกสมาคม/ประธานชมรมเครือข่ายนักศึกษาเก่านิด้าในส่วนภูมิภาค และสมาชิกสามัญของสมาคม เป็นคณะกรรมการบริหารในตำแหน่งต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ใน ข้อ 13 เพื่อขอจดทะเบียนทางราชการต่อไป

 

ข้อ 23. ให้นายกสมาคมที่ได้รับการเลือกตั้งตามข้อ 21  เลือกกรรมการบริหารในคณะกรรมการบริหารชุดเดิมอย่างน้อย 1 คน  เป็นกรรมการกลางในคณะกรรมการชุดใหม่

 

หมวด 8

การประชุมใหญ่

 

ข้อ 24. การประชุมใหญ่สามัญของสมาคมให้กระทำเป็นปกติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  ซึ่งอาจกำหนดประชุมทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้  และกำหนดเวลาอย่างช้าภายในเดือนเมษายนของทุกปี หากเกิดเหตุสุดวิสัยให้เลื่อนกำหนดเวลาได้ตามสมควรและตามความจำเป็น

24.1 ให้เลขาธิการเรียกประชุมโดยแจ้งกำหนดวัน เวลา สถานที่ และระเบียบวาระการประชุม ให้แก่สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันประชุม

             24.2 ในกรณีที่จำเป็นต้องขอมติจากที่ประชุมใหญ่อาจใช้วิธีส่งบัตรให้สมาชิกกรอกข้อความออกเสียงลงมติก็ได้และให้ถือว่าจำนวนคะแนนเสียงตามบัตรนั้นเป็นมติของที่ประชุม

              24.3 วิธีการใช้บัตรและการออกเสียงลงมติให้คณะกรรมการบริหารกำหนดเป็นระเบียบขึ้น หรือหากไม่ได้กำหนดระเบียบ ให้คณะกรรมการบริหารสมาคมนักศึกษาเก่า ฯ กำหนดตามความเหมาะสมโดยไม่ขัดต่อข้อบังคับของสมาคมนักศึกษาเก่า ฯ

              24.4 การประชุมใหญ่สามัญจะต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนสมาชิกสามัญ หรือไม่น้อยกว่า 50 คน จึงจะเป็นองค์ประชุม ในกรณีที่ให้สมาชิกใช้บัตรออกเสียง ลงมติให้นับจำนวนบัตรเป็นองค์ประชุมด้วย

              24.5 หากการประชุมตามความในข้อ 24.4 มีสมาชิกมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้เลขาธิการเรียกประชุมอีกครั้งหนึ่งภายในกำหนด 14 วัน นับจากกำหนดวันนัดที่แล้ว และในครั้งนี้หากมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของสมาชิกสามัญ หรือไม่น้อยกว่า 30 คน ให้ถือเป็นองค์ประชุม

              24.6  คณะกรรมการบริหารมีอำนาจในการดำเนินการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงวิธีการ ตลอดจนสถานที่ในการประชุม เพื่อให้การประชุมใหญ่สามัญและวิสามัญเกิดความเรียบร้อย เหมาะสม  แต่ต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับสมาคม หากมีการย้ายสถานที่ประชุมตามความจำเป็นเร่งด่วน จะต้องอยู่ภายในสถานที่บริเวณเดียวกันกับที่กำหนดไว้ ตามข้อ 24.1

24.7 คณะกรรมการบริหาร มีอำนาจในการดำเนินการจัดประชุมใหญ่สามัญและวิสามัญ โดยวิธีปกติ หรือโดยวิธีประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือประชุมโดยวิธีปกติร่วมกับประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างใดอย่างหนึ่ง  ตามที่คณะกรรมการบริหารเห็นเป็นการสมควรโดยให้กำหนดวิธีการประชุมให้ชัดแจ้งในหนังสือเชิญประชุม

สำหรับวิธีการลงมติในการประชุมใหญ่สามัญและวิสามัญตามวิธีการประชุมดังกล่าว  ในวรรคก่อน ให้คณะกรรมการบริหาร มีอำนาจกำหนดวิธีการลงมติตามวิธีการประชุมนั้นๆ โดยให้ประธานที่ประชุมแจ้งให้ที่ประชุมทราบก่อนการลงมติ

 

ข้อ 25.  การประชุมใหญ่วิสามัญ สมาคมอาจจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญได้ ดังนี้   

25.1 เมื่อคณะกรรมการบริหารเห็นว่ามีความจำเป็นให้เลขาธิการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญด้วยวิธีแจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน หรือ

25.2 เมื่อสมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 หรือจำนวนไม่น้อยกว่า 30 คน  ได้เข้าชื่อร่วมกันร้องขอต่อคณะกรรมการบริหาร ให้เรียกประชุมให้เลขาธิการรีบดำเนินการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในเวลาไม่เกิน 30 วัน นับตั้งแต่ได้รับคำร้องขอ

การประชุมใหญ่วิสามัญต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 50 คน จึงจะเป็นองค์ประชุม

หากการประชุมตามความในวรรคก่อน มีสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม ให้เลขาธิการ เรียกประชุมอีกครั้งหนึ่งภายในกำหนด 14 วัน นับจากกำหนดวันนัดที่แล้ว และในครั้งนี้ ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของสมาชิกทั้งหมด จึงถือว่าครบเป็นองค์ประชุม แต่ถ้าการประชุมนั้นมีขึ้นด้วยสมาชิกสามัญร้องขอน้อยกว่า 30 คน ก็ให้การประชุมนั้นเป็นอันระงับไป                          

 

ข้อ 26. ในการประชุมแต่ละครั้งให้นายกเป็นประธาน ถ้านายกไม่มาประชุมให้อุปนายกเป็นประธาน ถ้านายกและอุปนายกไม่มาประชุมให้คณะกรรมการบริหารเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานแทน

 

ข้อ 27. นอกจากข้อบังคับนี้จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น มติของที่ประชุมใหญ่ให้ถือตามเสียงข้างมาก หากคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีก 1 เสียง เป็นเสียงชี้ขาด

 

ข้อ 28. ในการประชุมใหญ่สามัญ,วิสามัญ ให้ เลขาธิการสมาคม แจ้งวาระการประชุมให้สมาชิกทราบก่อนวันประชุมอย่างน้อย 7 วัน

 

ข้อ 29.    การประชุมเพื่อการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ ให้ปฏิบัติตามข้อบังคับ หมวด 9

 

หมวด 9

การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ

 

ข้อ 30.  สมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า 10 คน มีความประสงค์จะขอแก้ไข เพิ่มเติมหรือตัดทอนข้อความใดๆ ในข้อบังคับนี้ให้เสนอร่างข้อบังคับที่ตนเห็นสมควรพร้อมด้วยเหตุผลส่งไปยังเลขาธิการไม่น้อยกว่า   7 วัน ก่อนวันประชุมใหญ่สามัญ,วิสามัญ และให้เลขาธิการจัดเข้าระเบียบวาระการประชุม

 

ข้อ 31.    การแก้ไขเพิ่มเติมหรือตัดทอนข้อความใดๆ ในข้อบังคับนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบในที่ประชุมใหญ่สามัญหรือวิสามัญ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งขององค์ประชุม และจะต้องยื่นขอจดทะเบียนใหม่ภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม

 

หมวด 10

การเลิกสมาคม และการชำระบัญชี

 

ข้อ 32.  นอกจากการเลิกตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือตามคำสั่งศาลแล้วที่ประชุมใหญ่สามัญโดยมติเสียงข้างมากไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมดอาจมีมติให้เลิกสมาคมได้

 

ข้อ 33.  ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งผู้ชำระบัญชีโดยเร็ว และการชำระบัญชีนั้นให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บังคับใช้อยู่ในขณะเลิกสมาคม

 

 

ข้อ 34.  ทรัพย์สินที่เหลือจากการชำระบัญชีให้ตกเป็นของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์